เลือกเหล็กรีดร้อนให้เหมาะกับงานของเรา

เลือกเหล็กรีดร้อนให้เหมาะกับงานของเรา

สำหรับอาคารที่ใช้เหล็กเป็นพระเอกในโครงสร้างนั้น นิยมใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่มีหน้าตัดรูปแบบต่างๆแตกต่างกันออกไป ซึ่งถูกแบ่งออกได้คือ 

1. เอช-บีม (H-Beam)
ลักษณะ : หน้าตัดของเหล็กเอชนั้นจะเป็นรูปตัวเอช(H) โดยให้สังเกตว่าส่วนที่เป็นขาตัวเอช หรือที่เรียกว่า “ปีก” (Flanges) นอกจากจะมีความหนากว่าแกนตรงกลาง ที่เรียกว่า “เอว”(web) แล้ว “ปีก”ยังมีลักษณะตรงเรียบ ความหนาคงที่ สัดส่วนหน้าตัดจะมีทั้งที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสและผืนผ้า เหล็ก เอช-บีม นี้รับแรงได้ดี นิยมใช้เป็นโครงสร้างเสาและคาน เป็นหน้าตัดที่คนรู้จักคุ้นเคยเลือกใช้มากที่สุดชนิดหนึ่ง
การใช้งาน : นิยมนำมาใช้ส่วนโครงสร้างหลักของอาคาร เช่น ส่วนเสาและคาน ทั้งอาคารสาธารณะและบ้านพักอาศัย อาจใช้ประกอบเป็นส่วนของโครงถัก ทำอาคารที่ยื่นยาว(cantilever) ได้อีกด้วย

2. ไอ-บีม (I-Beam)
ลักษณะ : เหล็กไอ-บีมนั้น มีลักษณะคล้ายกับ เอช-บีม แต่จุดที่ต่างกันคือ “ปีก” (flanges) ซึ่งความลาดเอียงเข้าสู่แกนกลางหรือ “เอว” (web) โดยความหนาของปีกใกล้แกนกลางจะหนากว่าส่วนปลาย และปลายมีความโค้งมน บางแห่งอาจจะใช้ชื่อเรียกว่า S-Section
การใช้งาน : นิยมใช้เป็นโครงสร้างเหล็กของอาคารเช่นเดียวกันกับ H-Beam แต่ด้วยคุณสมบัติของปีกที่หนากว่า จึงนิยมใช้ไอ-บีมมาทำเป็นเครนในอาคารงานอุตสาหกรรม

3. เหล็กรางน้ำ (Channel)
ลักษณะ : หน้าตัดของเหล็กรางน้ำนั้น จะเป็นรูปตัวยู(U) หน้าตัดเหล็กจะมี “ปีก”หรือ Flange อยู่ที่ด้านบนและล่าง เพียงข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ได้นำมาใช้กับโครงสร้างขนาดใหญ่มากนักเหมือนกับเหล็ก H-Beam และ I-Beam เนื่องจากมีจุดรับแรงที่ไม่ใช่จุดตรงกลาง จึงมีความเฉพาะตัวในการใช้งานที่ต่างออกไป อาจนำมาใช้เพื่อเสริมในส่วนโครงสร้างรองที่มีขนาดย่อมลงมาหน่อย ซึ่งจะทำให้อาคารดูมีรายละเอียดที่สวยงามลงตัวขึ้นสำหรับอาคารที่ต้องการโชว์โครงสร้าง
การใช้งาน : จุดรับแรงจะไม่ได้อยู่ตรงกลางเหมือนเหล็กที่มีหน้าตัดสมมาตร จึงมีการใช้งานเฉพาะจุด เช่น นิยมใช้ทำคานบันไดและแปหลังคา ซึ่งถ้าได้รับการออกแบบและคำนวณให้ได้มาตรฐาน เลือกใช้งานได้ถูกจุดจะช่วยลดต้นทุนและน้ำหนักของโครงสร้างได้ และยังได้อาคารที่มีโครงสร้างสวยงามลงตัวขึ้นอีกด้วย

4. เหล็กฉาก (Angle)
ลักษณะ : หน้าตัดของเหล็กฉากนั้นจะเป็นรูปฉากหรือตัวแอลที่มีขาเท่ากัน 2 ด้าน หรือ บางครั้งอาจเรียกเหล็ก L-shaped cross-section นิยมใช้เป็นโครงสร้างอาคารใช้งานในเชิงวิศวกรรม เช่น เสาส่งสัญญาณต่างๆ ในทางสถาปัตยกรรมอาจเลือกใช้เป็นตัวจบในโครงสร้างอาคารหรือคานตัวริม เพื่อความสวยงามและติดตั้งรับแรงได้ตรงจุด
การใช้งาน : ในงานวิศวกรรมนิยมใช้ทำเสาโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างเสาไฟฟ้า และเสาส่งสัญญาณวิทยุ เป็นต้น

5. คัท-บีม (Cut-Beam)
ลักษณะ : หน้าตัดเป็นรูปตัว T บางทีเรียกว่า T-Beam ส่วนคำว่า คัท-บีม นั้นมีที่มาจาก กระบวนการผลิต โดยการนำ เอช-บีม มา “ตัด” ครึ่งตรงส่วนแกนกลางที่เรียกว่า “เอว”(web) ก็จะได้เหล็กที่มีหน้าตัดเฉพาะตัว เมื่อเลือกนำมาใช้งานในแนวทางของสถาปัตยกรรมจะได้เส้นสายที่สบายตากว่าเหล็กหน้าตัดอื่นๆ ในบางตำแหน่ง เพราะจะเห็นแค่ส่วนเอวเป็นเส้นเล็กๆ ตามแนวโครงสร้างของอาคาร
การใช้งาน : ในทางวิศวกรรมนิยมใช้ทำโครงถักของส่วนต่างๆ เช่น หลังคา หรือ ช่วงพาดยาว ในงานสถาปัตยกรรมนิยมใช้เป็นคานโครงสร้างรองรับพื้นอาคาร หรือสามารถนำมาใช้เป็นคานของส่วนยื่นที่ไม่ได้รับน้ำหนักมากก็ได้ เช่น กันสาดหน้าต่างขนาดเล็ก เป็นต้น

6. ชีทไพล์ (Sheet Pile)
ลักษณะ : เป็นเหล็กเข็มพืดรีดร้อนที่มีเขี้ยวอยู่ที่ปลายทั้งสองด้านซึ่งสามารถตอกสลับเพื่อเข้าเขี้ยวกันแล้วล็อคต่อกันไปเรื่อยๆได้ จึงเหมาะที่จะนำมาทำโครงสร้างในลักษณะกำแพงที่ต้องรับแรงมากๆ แต่มีเวลาและพื้นที่อย่างจำกัดเพราะชีทไพล์จะมีความแข็งแรงและมีความรวดเร็วในการก่อสร้างกว่าการสร้างแนวกำแพงแบบอื่นๆ
การใช้งาน : ชีทไพล์นิยมทำงานกำแพงดินและแนวป้องกันน้ำท่วม ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เพราะสามารถติดตั้งและถอดประกอบได้รวดเร็วกว่าวิธีอื่น สำหรับแนวกำแพงแบบถาวรนั้นควรพิจารณาในเรื่องของงานสีป้องกันสนิมที่มีคุณภาพสูงด้วย

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
Siam Yamoto Steel

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้